รู้จักอุตสาหกรรมห่านและผ้าปัก “กรณีศึกษาลดความยากจนที่ดีที่สุดของโลก” ในมณฑลกุ้ยโจว

รู้จักอุตสาหกรรมห่านและผ้าปัก “กรณีศึกษาลดความยากจนที่ดีที่สุดของโลก” ในมณฑลกุ้ยโจว

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 เม.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ก.ค. 2566

| 3,605 view

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ภายใน “งานกิจกรรมรวบรวมกรณีศึกษาการลดความยากจนจากทั่วโลก ครั้งที่ 3” ได้มีการประกาศผลรางวัล “กรณีศึกษาลดความยากจนที่ดีที่สุดของโลก” จำนวน 104 รางวัล จาก 50 ประเทศทั่วโลก เช่น จีน อัฟกานิสถาน เนปาล เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา เมียนมา และอินเดีย ในจำนวนนี้ โครงการลดความยากจนในมณฑลกุ้ยโจวได้รับเลือกให้รับรางวัลดังกล่าว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการอุตสาหกรรมห่านในอำเภอจิ่นผิงโดยสำนักงานฟื้นฟูชนบทมณฑลกุ้ยโจว (Guizhou Rural Revitalization Bureau) และโครงการอุตสาหกรรมผ้าปักในอำเภอซือปิ่งโดยบริษัทพัฒนาผ้าปักชนชาติแม้วป้างเซียงวี่ จำกัด (Bangxiangyu Miao Embroidery Development) ซึ่งทั้งสองโครงการตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองชนชาติแม้วและชนชาติต้ง เฉียนตงหนาน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกุ้ยโจว

สำหรับรางวัล “กรณีศึกษาลดความยากจนที่ดีที่สุดของโลก” จัดขึ้นภายใต้การนำของศูนย์ลดความยากจนนานาชาติแห่งประเทศจีน (International Poverty Reduction Center in China: IPRCC)  ร่วมกับศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตจีน (China Internet Information Center: CIIC) และองค์กรระดับโลกหลายแห่ง เช่น ธนาคารโลก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ กองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการเกษตร (International Fund for Agricultural Development: IFAD) โครงการอาหารโลก (World Food Program: WFP) และธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการหลุดพ้นความยากจนและแบ่งปันประสบการณ์ภาคปฏิบัติการลดความยากจนที่ประสบความสำเร็จให้กับประเทศอื่น


กรณีศึกษาอุตสาหกรรมห่านครบวงจรของอำเภอจิ่นผิง

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมห่านของอำเภอจิ่นผิงได้รับการส่งเสริมจนกลายเป็นห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์ตั้งแต่ภาคการเกษตร ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมและการบริการ โดยมีพื้นที่สาธิตการเลี้ยงห่านรวม 21 แห่ง กำลังการผลิตลูกห่านปีละกว่า 3 ล้านตัว ผลผลิตลูกแบดมินตันมากกว่า 43 ล้านลูกต่อปี รวมมูลค่าการผลิตกว่า 1,000 ล้านหยวน และสามารถสร้างงานให้คนในท้องถิ่นและหลุดพ้นจากความยากจนกว่า 13,000 คน

แรกเริ่มเดิมทีชาวบ้านในอำเภอจิ่นผิงมีการเพาะเลี้ยงห่านกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ต่อมาได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐซึ่งต้องการนำทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาเป็น “หนึ่งอำเภอ หนึ่งผลิตภัณฑ์” เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน รวมถึงในปี 2560 ได้ดึงดูดผู้ผลิตลูกแบดมินตันแบรนด์ดังระดับโลกอย่างบริษัท Reinforced Shuttlecocks Limited (RSL) เข้ามาลงทุนจัดตั้งโรงงานที่อำเภอจิ่นผิงภายใต้ชื่อ Guizhou Jinping Yashilong (RSL) Sporting Goods Co., Ltd. และ Guizhou Yashilong (RSL) Sports Culture Industry Development Co., Ltd ด้วยเห็นว่าอำเภอจิ่นผิงมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ยอดเยี่ยมโดยมีพื้นที่ป่าครอบคลุมถึงกว่าร้อยละ 70 จึงเหมาะสำหรับเป็นพื้นที่เลี้ยงห่านในระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี

บริษัท RSL ที่อำเภอจิ่นผิงได้ดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ด้วยการเพาะพันธุ์และการเลี้ยงห่าน การผลิตลูกแบดมินตัน ตลอดจนการจัดการแข่งขันกีฬาแบดมินตัน สำหรับการเพาะเลี้ยงห่านของบริษัท RSL กับชุมชนในท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงในลักษณะผ่านการทำเกษตรแบบมีพันธะสัญญา (Contract Farming) โดยบริษัทเป็นผู้จัดหาลูกห่าน สถานที่ และอาหารสัตว์ให้กับเกษตรกร ส่วนเกษตรกรรับผิดชอบการเลี้ยงดูห่านให้โตเต็มวัยซึ่งมักใช้เวลาประมาณ 75 วัน นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเพาะเลี้ยงห่านและการฝึกอบรมด้านการป้องกันและควบคุมโรคแก่เกษตรกร เพื่อให้ห่านมีอัตราการรอดชีวิตที่เพิ่มขึ้น

ในส่วนของโรงงาน บริษัท RSL ได้ลงทุนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมลูกแบดมินตันมูลค่ากว่า 600 ล้านหยวน ซึ่งภายในประกอบด้วย โรงงานผลิตลูกแบดมินตัน โรงงานล้างขนห่าน ลานตากขนห่าน อาคารสำนักงาน และพื้นที่อยู่อาศัย รวมถึงพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ลูกขนไก่แห่งเดียวของโลก ปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้มีกำลังการผลิตลูกแบดมินตันคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของกำลังการผลิตลูกแบดมินตันของบริษัท RSL ทั่วโลก กลายเป็นเขตผลิตลูกแบดมินตันที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท RSL ในจีน และส่งออกจำหน่ายกว่า 60 ประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย อังกฤษ และเยอรมนี รวมมูลค่าการส่งออกปีละ 150 ล้านหยวน

นอกจากนี้ อำเภอจิ่นผิงยังได้สร้างอาคารแข่งขันกีฬาแบดมินตันมาตรฐานขนาดใหญ่ 2 แห่ง โดยในปี 2561 อำเภอจิ่นผิงได้จัดการแข่งขันกีฬาแบดมินตันประจำอำเภอครั้งที่ 1 มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2000 คน และตั้งแต่ปี 2562 ได้จัดการแข่งขันกีฬาแบดมินตัน “ถ้วยรางวัล RSL” เรื่อยมา โดยในปี 2563 มีนักกีฬาจีนเข้าชิงรางวัลเกือบ 200 คน รวม 16 ทีม รวมถึงเคยเชิญนายหวัง เจิงหมิง อดีตนักกีฬาแบดมินตันแชมป์โลกของจีน เข้าร่วมการแข่งขันและชี้แนะแนวทางการพัฒนาวงการแบดมินตันของอำเภอจิ่นผิงอีกด้วย

นอกเหนือจากอุตสาหกรรมลูกแบดมินตันแล้ว อำเภอจิ่นผิงยังส่งเสริมการแปรรูปเนื้อห่าน โดยมีบริษัทพัฒนาอุตสาหกรรมห่านเชิงนิเวศจิ่นผิงกุ้ยโจว จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาล (State-Owned Company) และบริษัทแกนนำหลักของอุตสาหกรรมการแปรรูปเนื้อห่าน โดยสามารถเฉือดและแปรรูปห่านเฉลี่ยวันละ 15,000 ตัว หรือมากกว่า 3 ล้านตัวต่อปี รวมมูลค่ากว่า 200 ล้านหยวน กลายเป็นศูนย์กลางแปรรูปสัตว์ปีกขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐานของอำเภอจิ่นผิงและอำเภอใกล้เคียง

ไม่เพียงเท่านั้น อำเภอจิ่นผิงยังได้จัดตั้งสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมห่านของอำเภอจิ่นผิงโดยเฉพาะ รวมถึงมีความพยายามสร้างแบรนด์ร้านอาหารเนื้อห่านของอำเภอจิ่นผิงโดยผ่านคำแนะนำจากรัฐบาล เช่น การสร้างถนนคนเดินที่มีร้านอาหารจำหน่ายเนื้อห่านเป็นหลักที่ตำบลตุนจ้าย อำเภอจิ่นผิง เพื่อให้ห่านกลายเป็นอุตสาหกรรมอาหารหลักที่มีชื่อเสียงของอำเภอจิ่นผิง ปัจจุบัน อำเภอจิ่นผิงมีร้านอาหารจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อห่านทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์โดยเฉพาะ 5 แห่ง และเปิดร้านค้าออนไลน์เฉพาะบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น JD.com และ Pinduoduo รวม 9 ร้านค้า

กรณีศึกษาอุตสาหกรรมผ้าปักในอำเภอซือปิ่งของบริษัทพัฒนาผ้าปักชนชาติแม้วป้างเซียงวี่ จำกัด

บริษัทพัฒนาผ้าปักชนชาติแม้วป้างเซียงวี จำกัด ก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมเถาจื่อวานในอำเภอซือปิ่ง เป็นบริษัทผลิตผ้าปักของท้องถิ่นที่มุ่งเน้นการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ การสืบทอดการปักผ้าของชนชาติแม้ว การส่งเสริมวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย การรวบรวมศิลปะของชนกลุ่มน้อย และการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของชนกลุ่มน้อย ด้วยการเพิ่มทักษะแรงงานให้กับกลุ่มคนจน และส่งเสริมให้แม่บ้านชนชาติแม้วซึ่งมีทักษะการเย็บปักถักร้อยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วได้มีงานทำและเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว รวมถึงได้ผสมผสานการเย็บปักถักร้อยแบบดั้งเดิมเข้ากับการผลิตแบบทันสมัยด้วยระบบดิจิทัลที่ได้ทั้งมาตรฐานและปริมาณ จนสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี

อำเภอซือปิ่งมีประชากรที่เป็นชนชาติแม้วคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 52.7 ของจำนวนประชากรทั้งอำเภอ ผ้าปักของชนชาติแม้วมีความสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของสตรีชนเผ่าแม้วที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน โดยสตรีชาวแม้วต้องร่ำเรียนวิชาปักผ้าจากผู้เป็นมารดา และทุกคนทำใส่เองรวมถึงทำให้สามีและลูกชาย สตรีชาวแม้วจึงปักผ้าเป็นกันทุกคนและฝีมือค่อนข้างประณีต บริษัทจึงได้รวบรวมกลุ่มสตรีชาวแม้วภายในชุมชนและพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมงานผ้าปักชนกลุ่มน้อยที่ก่อให้เกิดรายได้และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน บริษัทได้สร้างพื้นที่ผลิตผ้าปักให้กับชนเผ่าแม้วในอำเภอซือปิ่งรวม 6 หมู่บ้าน สามารถสร้างงานให้กับสตรีกว่า 2,300 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มคนยากจน 2,180 คน และสร้างรายได้ต่อคนโดยเฉลี่ยมากกว่า 12,000 หยวนต่อปี รวมถึงเคยอบรมบุคลากรมาแล้วกว่า 3,000 คน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผ้าปักและสืบทอดทักษะการปักผ้าของชนกลุ่มน้อย เพื่อให้กลายเป็นกลุ่มคนในท้องถิ่นที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญด้านผ้าปัก ถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของอำเภอซือปิ่งและการพลิกฟื้นชนบทตามนโยบายการสร้างสังคมอยู่ดีกินดีระดับปานกลางอย่างรอบด้านของรัฐบาลจีน

ในฐานะที่มณฑลกุ้ยโจวเป็นมณฑลที่สามารถลดจำนวนคนยากจนได้มากเป็นอันดับต้น ๆ ของจีนหลังจากแถลงผลสำเร็จการขจัดความยากจนให้หมดไปจากอำเภอยากจนของมณฑลทั้ง 66 แห่ง เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งสามารถลดจำนวนคนยากจนได้ถึง 9,230,000 คน หรือเฉลี่ยปีละกว่า 1,000,000 คน อุตสาหกรรมห่านของอำเภอจิ่นผิงและอุตสาหกรรมผ้าปักของอำเภอซือปิ่งต่างมีส่วนช่วยให้นโยบายลดความยากจนของมณฑลกุ้ยโจวประสบผลสำเร็จ จากการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชนรวมถึงการลงทุนจากต่างประเทศ จนเกิดเป็นความร่วมมือในรูปแบบ “บริษัทชั้นนำ+การรวมกลุ่มในชุมชน+เกษตรกร/สตรีชาวแม้ว” โดยช่วยกันพัฒนาชุมชนอย่างจริงจัง สร้างอาชีพและทักษะเฉพาะแก่คนในท้องถิ่นเพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจน สิ่งสำคัญ คือ การร่วมมือกันดึงจุดเด่นของทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์และต่อยอดเพิ่มพูนมูลค่าเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน

********************